December 16, 2024

ยิ่งซ้อมยิ่งแย่

หลายคนเคยได้ยินคำว่า practice makes perfect (การซ้อมจะทำให้การเล่นสมบูณ์) ซึ่งมันเป็นความจริงที่ปฎิเสธไม่ได้ว่าการที่เราจะเก่งอะไรซักอย่าง เราจะต้องผ่านการทำสิ่งนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะการเล่นดนตรีซึ่งเป็นศาสตร์ที่มีความละเอียดอ่อนและมีความซับซ้อนมาก ดังนั้นการซ้อมเยอะๆก็น่าจะส่งผลให้เราเก่งขึ้น…รึเปล่า 

เพราะในความเป็นจริงแล้วมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อคุณภาพของการซ้อมของเรา สิ่งแรกๆที่เกี่ยวข้องก็น่าจะเป็นความพร้อมทางด้านร่างกาย ทางด้านอารมณ์ ความสดชื่นและมีพลังงาน สุขภาพที่แข็งแรงและไม่มีโรคภัยหรืออาการบาดเจ็บ ยึด ตึง อักเสบของกล้ามเนื้อ บทเรียนและวิธีการฝึกซ้อมที่ถูกทางจาก อาจารย์ผู้มีประสบการณ์และความรู้จริง ถ้าจะให้อธิบายทุกเรื่องก็อาจจะยาวเกินไป วันนี้ขอจดจ่อที่วิธีที่หลายคนน่าจะได้ประโยชน์จริงๆ นั่นคือเรื่องของ focus กับ good habit 

ในกีฬาบาสเก็ตบอลมืออาชีพอย่าง NBA ผู้เล่นหลายคนที่แม้จะมีพรสวรรค์สูงมากๆ และมีความสามารถทางกีฬาที่มากกว่าคนธรรมดาทั่วไป เมื่อเขาเข้าไปเล่นในระดับมืออาชีพ หลายคนถูกบังคับให้ไปเข้า workshop สำหรับการฝึกชู้ตบาส ซึ่งมันถือเป็นการดูหมิ่นเล็กๆ เพราะคนเหล่านี้สามารถชู้ตได้เก่งมากๆอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงหลายคนไม่มีสิ่งที่เรียกว่า pure form หรือท่าชู้ตบริสุทธ์ ซึ่งหมายความว่า ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนของสนามบาส นักชู้ตทีี่ดีจะต้องมีท่าการชู้ตที่ความสัมพันธ์ของร่างกายส่วนต่างๆนั้นเป็นแบบเดียวกัน คือมุมแขน มุมขา มุมสะโพก เหมือนเดิมทุกครั้งที่ชู้ตบาสไม่ว่าเขาจะเหนื่อยแค่ไหน ซึ่งมันหมายความว่าเขาจะต้องซ้อมการชู้ตกับโคชมืออาชีพเป็นระยะเวลานาน และรู้ตัวอยู่เสมอว่าแต่ละครั้งที่ชู้ตสามารถทำได้เหมือนเดิมหรือไม่ จะต้องมีการสำรวจท่าเล่นตัวเองจากวีดีโอ ปรับท่าให้ถูกอยู่เสมอและ บำบัดกล้ามเนื้อที่อาจจะอ่อนแอและต้องเพิ่มความแข็งแกร่ง รวมถึงทุกครั้งที่ชู้ตจะต้องไม่ชู้ตเล่นๆ แต่จะต้องมีสมาธิจดจ่ออยู่กับท่าทางและการเคลื่อนไหวของตัวเอง ถ้าเขาสามารถซ้อมจนเข้าที่เขาจะได้สิ่งที่เรียกว่า good habit และในเวลาที่ต้องแข่งในสนามสิ่งเดียวที่เขาต้องรู้คือว่าห่วงบาสอยู่ทิศใหน ที่เหลือคือร่างกายและกล้ามเนื้อจะทำงานให้เองโดยอัตโนมัติ 

การซ้อมดนตรีก็ในมุมนึงก็คือสิ่งเดียวกันกับการเล่นกีฬาคือผู้แสดงจะต้องซ้อมให้สิ่งที่กำลังจะเล่นนั้นสามารถถูกสร้างออกมาได้อย่างอัติโนมัติ แต่ในหลายครั้งการซ้อมดนตรีของเขาก็ไม่ได้ช่วยให้เป็นอย่างนั้นเลย หลายคนรีบเล่นให้จบๆเพลงโดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรถูกผิดบ้าง พอจบเพลงก็ไปซ้อมเพลงถัดไป การซ้อมแบบนี้แทบจะไม่ได้สร้างให้ตัวเองเก่งขึ้นเลย เพราะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรในการเล่น ตามคำพูดที่ว่าอย่าคาดหวังความพัฒนาถ้ายังทำสิ่งเดิมๆ 

การซ้อมที่ดีควรจะเน้นการสร้าง good habit ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเราสามารถจดจ่ออยู่ในสิ่งที่เรากำลังทำได้ นั่นหมายความว่าสิ่งที่เรากำลังทำจะต้องไม่ซับซ้อมเกินไปหรือไม่ยาวเกินไป ตัวอย่างเช่นถ้าเรามีท่อนนึงที่เล่นยากมาก เล่นแล้วไม่ชัด ไม่เคลียร์ หรือโทนเสียงไม่ดีอย่างที่หวังไว้ วิธีการซ้อมที่ดีคือเรายกท่อนเล็กๆนั้นออกมาซ้อมแยก อาจจะเป้นท่อนขนาดหนึ่งห้อง หรือบางครั้งอาจจะต้องเหลือแค่หนึงจังหวะ แล้วทำสิ่งนั้นให้สมบูรณ์ไร้ที่ติ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วค่อยเริ่มเพิ่มดนตรีที่มาก่อนหน้านั้นแล้วดูว่าเรายังสามารถทำได้ดีอยู่รึเปล่า เหตุผลที่ต้องทำให้มันเล็กลงเพราะว่า สมาธิหรือว่า focus ของเรานั้นไม่สามารถถูกยืดออกนานเกินไป ถ้าเราย้อนไปเริ่มตั้งแต่ต้นเพลง เราจะพบว่ากว่าเราจะมาถึงท่อนยากนี้เราก็ลืมไปแล้วว่าเรากำลังจะเล่นมันยังไงให้มันดีีขึ้น ไม่เพียงแต่เราไม่สามารถพัฒนาอะไรได้แต่เราเพิ่งเสียเวลา เสียแรงกายไปกับการซ้อมที่ไม่ได้ประโยชน์ รู้ตัวอีกทีเราก็เหนื่อยเกินไปที่จะซ้อมดนตรีให้ดีได้แล้ว 

ดังนั้นต่อไปนี้ทุกครั้งที่เรากำลังจะซ้อม จะต้องมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาการเล่นให้ดีขึ้น โดยเริ่มจากที่เล็ก ๆ ที่สามารถจดจ่อได้ และทำซ้ำจนกว่าจะเล่นผิดไม่เป็น นี่คือหนทางแห่งการพัฒนา สำหรับบางคนนี่หมายความว่าเราต้องแบ่งท่อนให้สั้นลง สำหรับบางคนนี่อาจจะหมายความว่าต้องเปลี่ยนเพลงเล่น เพราะเพลงอาจจะยากเกินไป และการที่เล่นเพลงที่ยากเกินไปเป็นเวลานาน คุณจะไม่ได้สิ่งที่เรียกว่า good habit แต่จะเป็น habit ที่ bad ซึ่งคุณจะต้องจ่ายด้วยเงินและเวลาที่จะพยายามกลับมาแก้มันในอนาคต ซึ่งไม่คุ้มเลยจริงๆ 

เป็นกำลังใจให้นะครับ 

อ เบน 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *