July 24, 2024

How do I find the time to practice?

“สัปดาห์ที่แล้วยังไม่ได้ซ้อมเลยค่ะ การบ้านเยอะมากเลย” เป็นคำพูดที่หลายคนได้ยินไม่ขาดสายจากนักเรียนที่มาเรียนไพรเวตกับตน หลังจากพยายามเก็บอารมณที่ขุ่นมัวเพราะเสียดายความพัฒนาที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมก็จะยิ้มด้วยความเข้าใจและบอกว่า “ไม่เป็นไร ครูเข้าใจ”

ในระบบการศึกษาที่ผู้ออกแบบพยายามจับวิชาร้อยแปดพันเก้ามายัดลงไปในตารางเรียนที่แสนจะแน่นรวม 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในวันจันทร์ถึงศุกร์ ทั้งๆที่ตัวเองก็รู้ว่าเมื่อจบ ม ปลายไปแล้ว นักเรียนส่วนใหญ่จะไม่ได้นำข้อมูลที่เรียนไปใช้สอบหรือทำงานในสาขาอาชีพตัวเอง แต่ทุกคนก็ยังปฏิบัติเหมือนว่าการเรียนแบบนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ และนักเรียนที่ดีจะต้องเรียนสิ่งเหล่านี้อย่างตั้งใจ ต้องส่งการบ้านให้ครบ แม้ว่าในที่สุดแล้วมันไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรกับตัวนักเรียนเลย

และความลำบากใจนี้ก็ยิ่งชัดเจนมากขึ้นในชีวิตของนักเรียนที่ได้ตัดสินใจว่าตัวเองจะเป็นนักดนตรี จะเรียนดนตรี จะจบมาทำงานด้านดนตรี เพราะนั่นคือสิ่งที่เขารักและเพราะเหตุนั้นเขาเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นสิ่งที่เขาทำได้ดีที่สุด แต่เขาก็ยังต้องวางการซ้อมดนตรีซึ่งเป็นเงื่อนไขหลักของความสำเร็จในอาชีพไว้ข้างๆ และหยิบการบ้านวิชาที่สุดแสนจะยากมาทำเป็นชั่วโมงๆ เพราะว่าความกดดันของการเป็นเด็กนักเรียนที่ดี บวกกับการได้ตัดสินใจเข้ามาเรียนสายสามัญ ซึ่งแม้ว่ามันจะเปิดทางเลือกให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยหลากหลายคณะ แต่ลึกๆในใจเขาก็รู้อยู่แล้วว่าถ้ามีโอกาสได้เรียนดนตรีในที่ดีๆ พร้อมกับทุนการศึกษาดีๆ เขาพร้อมจะสละทุกคณะสายสามัญ เพื่อวิ่งตามความฝันตัวเอง

“แต่ถ้าอยากเข้ามหาวิทยาลัย ต้องจบ ม. ปลาย ก่อนไม่ใช่เหรอ” นั่นเป็นความจริงแท้ที่เหมือนจะเพิ่มความขัดแย้งเข้าไปในชีวิตของนักดนตรีเพราะเรารู้ว่าโรงเรียน ม. ปลาย ส่วนใหญ่ไม่มีโปรแกรมสำหรับนักดนตรี นั่นแปลว่าถ้าอยากเข้าโปรแกรมดนตรีเขาจะต้องใช้เวลา เสาร์อาทิตย์ไปกับการเรียนพิเศษ และเมื่อไปเจอกับอาจารย์ไพรเวตของตนก็จะมีหลายครั้งที่ต้องเอ่ยขอโทษว่า “ขอโทษด้วยค่ะ สัปดาห์ที่แล้วหนูไม่มีเวลาซ้อม” วงจรนี้ดูเหมือนจะดำเนินต่อไปอย่างไม่มีทางออก

จนกระทั่งเริ่มมีสิ่งที่เรียกว่า “สอบเทียบ” เข้ามาอยู่ในทางเลือกของชีวิตนักเรียน หลายคนเริ่มได้ข่าวว่าเพื่อนบางคนลาออกกลางเทอม ม 4 หรือ ม 5 เพื่อที่จะไปติวสอบเทียบในสิ่งที่เรียกว่า GED (สอบเทียบ มัธยมปลาย มาตรฐานอเมริกา) และรู้ตัวอีกทีหนึ่งเขาก็เข้าไปเป็นเด็กมหาวิทยาลัยในโปรแกรมอินเตอร์ชื่อดัง หรือมหาวิทยาลัยไทยชั้นนำ เหมือนอำนาจทางเลือกจะกลับมาอยู่ในมือของนักเรียนอีกครั้ง จะดีแค่ใหนที่เราไม่ต้องเรียนในสิ่งที่เราไม่อยากเรียน ไม่ต้องตีลังกาสมองทำโจทย์เลขที่ไม่มีวันได้ใช้ และที่สำคัญที่สุดคือมีเวลาที่จะซ้อมดนตรีและเก่งขึ้นเรื่อยๆ เผื่อจะได้แข่งชนะกับเขาบ้างหรือว่าได้ทุนการศึกษาจากความสามารถการแสดงที่เราขัดเกลามาเป็นเวลานาน

วันนี้อยากบอกนักเรียนว่า ออกมาเถอะครับ การเข้ามหาวิทยาลัยนั้นสามารถทำผ่านการสอบเทียบได้ บอกเลยว่าไม่มีใครแคร์ว่าคุณเรียน ม. ปลายที่ไหน ถ้าคุณเล่นไวโอลินเพี้ยน หรือร้องเพลงหลงไปมา ทุกคนจะตัดสินคุณที่ผลงาน และหนทางสู่ความเป็นเลิศนั้นมันไกลมากจริงๆ ถ้าเลือกมาทางนี้แล้วทุ่มให้สุดตัวเลยครับ เป็นกำลังใจให้

อ. เบน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *